ศาลเจ้าแห่งนี้มีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของเจ้าแม่หน้าผา ซึ่งมีชื่อเดิมเรียกว่าเจ้าแม่ทองสุข หรือเจ้าแม่ลำดวน ส่วนชาวลาวโซ่งเรียกว่า เจ้าแม่ทองดำ ทั้งนี้ เนื่องจากรูปเจ้าแม่เดิมนั้นใช้ไม้จันทร์ดำแกะสลัก มีความเชื่อกันว่าเจ้าแม่ชอบกินหมาก และปัจจุบันได้ปั้นรูปเจ้าแม่ขึ้นใหม่ โดยเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นแบบจีน และรู้จักกันในนาม “เจ้าแม่หน้าผา” ภายในศาลเจ้านี้นอกจากจะมีปึงเถ่าม่า หรือเจ้าแม่หน้าผา เป็นเทพประธานแล้ว ยังมีปึงเถ่ากง หรือเจ้าพ่อหน้าผา ที่สร้างจำลองเจ้าพ่อเทพารักษ์ รวมทั้งเทพเจ้าอื่น ๆ อีกหลายองค์ เช่น เจ้าพ่อกวนอู หรือ “กวงกง” เจ้าแม่สวรรค์ หรือ “เทียนโหวเซี้ยบ้อ” หรือ “หม่าโจ้ว” หรือ “เทียนโหวเซิ่งหมู่” ในภาษาไหหลำ หรือ”หม่าจู่” ในภาษาฮกเกี้ยน และเทพใช้ซิ่งเอี้ย หรือ ” ไฉ่เส้นเหย ” ในภาษาไหหลำที่ประชาชนนิยมมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยทุกปีจะมีการนำองค์ปึงเถ่ากงและปึงเถ่าม่า เข้าร่วมขบวนแห่ที่เรียกว่า “เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ” ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของนครสวรรค์เลยทีเดียว ความเป็นมา มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า มีตายายคู่หนึ่ง ฝันเห็นหญิงชรา ผมยาวเนื้อตัวเปียกปอน มาบอกว่า ตัวเองลอยน้ำมาจากอยุธยาถึงนครสวรรค์หนาวมาก ขอให้เอาขึ้นจากน้ำที พอรุ่งเช้าจึงได้ไปริมแม่น้ำซึ่งมีลักษณะเป็นบริเวณน้ำวน ซึ่งบริเวณนั้นมีหน้าผาค่อนข้างสูงชันก็ได้พบไม้จันทร์ดำขนาดกว้าง 1 ฟุต สูง 2 ฟุต แกะเป็นรูปเจ้าแม่ติดอยู่ซอกหินอยู่รวมกับไม้ที่แกะเป็นรูปอื่น ๆ จึงได้อัญเชิญขึ้นมาพร้อมกัน และได้สร้างศาลไม้เล็ก ๆ ไว้บริเวณริมแม่น้ำต่อมาเถ้าแก่ง่วนเซ้ง เจ้าของโรงแรมง่วนเซ้งและเจ้าของโรงไม้ขายกระดาน ได้ฝันว่ามีหญิงชรา ผมยาว มาขอให้ไปช่วยสร้างศาลให้ท่าน เถ้าแก่ฝันถึงเช่นนี้ 3 วันติดต่อกัน จึงได้ไปบอกกับนายคุงเคี้ยม ให้ช่วยเดินทางหาเจ้าแม่ และเมื่อเดินทางหาเลียบตามแม่น้ำขึ้นไปทางเหนือจนถึงบริเวณหน้าผาก็ได้เห็นศาลไม้ชั่วคราวริมแม่น้ำจึงได้ขอที่ดินชาวบ้านแถวนั้นสร้างเป็นศาลเจ้าให้ท่าน จากนั้นก็มีการบูรณะเรื่อยมาจนกลายเป็นศาลใหญ่เช่นในปัจจุบัน เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 06.00-17.00 น.