



หากเอ่ยถึงโบสถ์ของวัดที่มีความโดดเด่นของนครสวรรค์แล้ว ย่อมต้องมีชื่อวัดบางมะฝ่อปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอน ความโดดเด่นของโบสถ์วัดบางมะฝ่อนั้น เริ่มตั้งแต่ประตูและหน้าต่างเป็นรูปทวารบาล ด้านในมีรูปราชาธิปกที่ได้รับพระราชทานมา และมีรอยพระพุทธบาทที่งดงามมาก แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ได้รับยกย่องว่ามีความสวยงามที่สุดคืองานจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าเรื่องราวพระเวสสันดร ภาพพระเจ้าสิบชาติ เรื่องจันทกุมาร อันเป็นฝีมือช่างสมัยโบราณ และองค์พระประธานของโบสถ์หลังนี้แม้เป็น พระพุทธรูปปางมารวิชัย หากก็มีความพิเศษตรงที่มีตาลปัตรอยู่ด้วย นอกจากอุโบสถแล้ว ในวัดบางมะฝ่อยังมีอาคารรุ่นเก่าอีกหลายหลังที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นวิหาร ศาลาการเปรียญ และศาลายุรยาตร์ ขณะเดียวกันวัดยังเป็นที่รวมตัวของชุมชนในการทำบุญตักบาตรประจำวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และมีการจัดงานประจำปีของวัดในวันแรม 9 ค่ำ และ 10 ค่ำ เดือน 11 เป็นประจำทุกปี และที่สำคัญ วัดเคยใช้เป็นที่จัดงานประเพณีเลี้ยงข้าวแช่ประจำปีของชาวตำบลบางมะฝ่อ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่จัดขึ้นในวันครอบครัวที่มีการจัดงานสืบต่อกันมาไม่ต่ำกว่าร้อยปีเลยทีเดียว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แต่ละครอบครัวรวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งข้าวแช่และกับข้าวที่นำมาเลี้ยงนั้น เคยเป็นอาหารของชาวมอญและเป็นอาหารภายในวัง กล่าวกันว่าเมื่อประมาณกว่า 100 ปีที่ผ่านมา มีผู้นำอาหารดังกล่าวมาเผยแพร่ให้กับคนท้องถิ่นได้รู้จัก พร้อมกับเชิญให้ทุกคนในตำบลมาร่วมกันรับประทานอาหารร่วมกัน จนเกิดเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ และกลายมาเป็นงานประเพณีเพื่อสืบสานเอกลักษณ์ ประจำตำบลบางมะฝ่อในที่สุด ที่มาวัดบางมะฝ่อ วัดนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2322 (สมัยกรุงธนบุรี) เดิมชื่อวัดจันทป่าฝ้าย ตามนามผู้สร้าง คือนายจันท์ และนางฝ้าย แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญานวโรรส ประทานพระมหาสมณวินิจฉัยว่า วัดในตำบลใด ก็ควรตั้งชื่อตามตำบลนั้น จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางมะฝ่อตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สำหรับอุโบสถวัดบางมะฝ่อนั้น สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2467-2471 ยุคที่พระครูนิภาสธรรมคุณ (หลวงพ่ออ่อน) เป็นเจ้าอาวาส พระครูนิภาสธรรมคุณเป็นที่นับถือศรัทธาของชาวบางมะฝ่อยิ่งนัก จนชื่อของท่านถึงกับถูกรวมเข้าไปในคำขวัญของตำบลที่ว่า “ชาวบางมะฝ่อ เหล่ากอคนดี ประเพณีข้าวแช่ กล้วยหอมแน่ ละมุดหวาน ลูกหลานหลวงพ่ออ่อน”