วันที่ 2 เมษายน 2565 นางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผย ว่า จากการประชุมหารือร่วมกันระหว่างกลุ่มงานวิชาการ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ได้มีการนำข้อสรุปจากการประชุมไปสู่การปฏิบัติคือการทดลองติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ เพื่อนำร่องหาแนวทางการสำรวจนับประชากรควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยการใช้กล้องดักถ่ายอัตโนมัติ
นางอัจฉรา กล่าวว่า โดยเมื่อวันที่ 8-10 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา นายสันต์ภพ อัศวประภาพงศ์ ผู้ช่วยหัวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้นำทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตั้งกล้องจำนวน 9 จุด และได้กลับเข้าไปตรวจสอบภาพที่กล้องบันทึกได้ พบว่ากล้องทุกจุดทำงานได้ดีและมีควายป่าเดินผ่านกล้องทุกจุด ซึ่งจากภาพพบควายป่าฝูงใหญ่กว่า 10 ตัว แต่ค่าเฉลี่ยที่ผ่านกล้องคือฝูงละประมาณ 4-5 ตัว จากการประเมินภาพถ่ายเบื้องต้นคาดว่ามีประมาณ 45 ตัว จากทั้ง 9 จุด ที่ติดตั้งกล้อง ทั้งนี้ภาพที่ได้มาจะนำไปสู่การเรียนรู้ในการจำแนกเพศ และวัย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษาอย่างละเอียดต่อไป
สำหรับควายป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้เผยแพร่ใน BIG 7 หรือ 7 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่ แห่งป่าห้วยขาแข้ง ในตอน ‘ควายป่า’ ผู้ดุดันแห่งพงไพร ว่า ควายป่า หรือ มหิงสา (wild buffalo) ชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูนัก เห็นจะคุ้นแต่ชื่อ “ควายบ้าน” เสียมากกว่า อันที่จริง ควายบ้าน ก็สืบเชื้อสายมากจาก ควายป่า เนื่องจากคนรู้จักนำควายป่ามาเลี้ยงเพื่อประโยชน์ใช้งานมานานแล้ว
ลักษณะโดยทั่วไปนั้น คล้ายคลึงกันอย่างมาก นั่นก็เพราะสืบมาจากเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียด ก็พบว่า ทั้งคู่ ไม่เหมือนกัน ทั้งลักษณะ พฤติกรรม และนิสัย ลำตัวของควายป่า บึกบึน แข็งแรง ใหญ่โตกว่าควายบ้านมาก น้ำหนักควายป่า จะอยู่ที่ 800 – 1,200 กก. ขณะควายบ้าน มีน้ำหนักตัวไม่เกิน 500 กก.
ควายป่า มีเขาโค้งเป็นวงเสี้ยวพระจันทร์ ยาวได้ถึง 150-180 ซม. ซึ่งควายบ้านจะมีเขาที่สั้นกว่า สีผิวของควายป่า มีสีเทาหรือน้ำตาลดำ ช่วงอกมีขนสีขาว รูปตัว V ใส่ถุงเท้าขาวหม่น ๆ ทั้ง 4 ข้าง ส่วนควายบ้าน มีผิวสีเทาจนถึงดำ ควายป่า มีนิสัยดุร้ายกว่าควายบ้าน ไม่กลัวคน แม้จะตัวใหญ่แต่กลับปราดเปรียว ว่องไว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ตัวผู้ชอบฉายเดี่ยวแต่ก็กลับมารวมฝูงในช่วงผสมพันธุ์
ควายป่าในผืนป่าไทย มีรายงานพบเพียงแห่งเดียว คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แถบ ๆ ริมลำห้วยขาแข้ง ทางตอนใต้ของผืนป่า เหลืออยู่น่าจะราวๆ 45-50 ตัว จำนวนประชากรขยุ้มมือนี้ จึงเปราะบางเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างยิ่ง
ควายป่า ชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นปลักโคลน ดินเลน ชายน้ำ กีบเท้าของพวกเขาจึงมีลักษณะกลมและแป้น ช่วยในการย่ำปลักได้ดี ในขณะที่ควายป่า และกระทิง กีบเท้าจะเรียวแหลมกว่า
อาหารส่วนใหญ่เป็นยอดไม้ ใบไม้อ่อน ๆ หญ้า ไปจนถึงหน่อไม้ ชอบนอนจมปลัก เรียกได้ว่า มุดหายไปในปลักทั้งตัว โผล่ไว้แต่จมูกเพื่อหายใจ หวังเพื่อคลายร้อนในตัว และกันแมลงรบกวนไปด้วย
สถานภาพปัจจุบันของควายป่า เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 19 ชนิดของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ (EN)
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่