“ภาค ปชช.-แอมเนสตี้” เรียกร้องสภาฯผลักดันร่าง “กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน” ยกเคส “ผกก.โจ้” หมดเวลาเมินเฉยกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า
“ภาค ปชช.-แอมเนสตี้” เรียกร้องสภาฯผลักดันร่าง “กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน” ยกเคส “ผกก.โจ้” หมดเวลาเมินเฉยกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ตัวแทนภาคประชาชนมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร ผลักดันร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน โดย น.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า แอมเนสตี้ และภาคประชาสังคมผลักดันเรื่องนี้มามากกว่า 10 ปี ทั้งรณรงรค์สาธารณะและกดดันเชิงนโยบาย แต่เรื่องก็ถูกทำให้เงียบมาโดยตลอด ซึ่งมันดูเหมือนภาครัฐไม่มีความจริงใจต่อเรื่องนี้ แต่รัฐยังคงอ้างต่อเวทีโลกในความพยามผลักดันกฎหมายนี้ ทั้งที่จริงแล้วสังคมรู้ว่ารัฐจริงใจมากแค่ไหนกับประชาชนในประเทศ
น.ส.ปิยนุช กล่าวอีกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการทรมานและการถูกบังคับให้สูญหายก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างนับไม่ถ้วนตัวเลขที่ทางรัฐมีหรือต่างประเทศมีก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ของความเป็นจริง ตัวอย่างกรณีที่ตำรวจกระทำการทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ที่สถานีตำรวจจังหวัดนครสวรรค์ และของกรณีของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่ถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตอนนี้หมดเวลาแห่งการเมินเฉยต่อกระบวนการที่ล่าช้าและความอยุติธรรมแล้ว และที่ผ่านมาเราเปิดรับฟังความคิดเห็นและแก้ไขร่างจนนับครั้งไม่ถ้วนซึ่งกระบวนการที่ยาวนานเช่นนี้ทำให้ผู้ที่สูญเสียที่มากที่สุดคือญาติและครอบครัว ตอนนี้หมดเวลาแล้วที่รัฐจะเพิกเฉยต่อร่างนี้ และหมดเวลาแล้วกับระบบการลอยนวลพ้นผิด
“ถึงเวลาแล้วมาจะต้องมีการประกาศใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ดังนั้นแอมเนสตี้ ขอเรียกร้องให้เลื่อนลำดับการพิจารณามาเป็นลำดับแรกเพื่อให้ทันการพิจารณาในสมัยประชุมนี้” น.ส.ปิยนุช กล่าว
น.ส.ปิยนุช กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนลยังคงเน้นย้ำว่า ร่างกฎหมายที่ผ่านต้องเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UNCAT)อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศด้วย