กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือน 44 จังหวัด ในภาคเหนือ อีสาน กลาง รับมือฝนตกหนักช่วงวันที่ 24-25 ก.ย.64 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
ภาพจาก ผู้สื่อข่าว จ.พระนครศรีอยุธยา
วันนี้ (23 ก.ย.64) เวลา 18.50 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 44 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รับมือฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 24-25 ก.ย. 2564 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 ลงวันที่ 23 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. แจ้งว่า พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางที่ทวีกำลังแรงจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลาง ในวันพรุ่งนี้ (24 กันยายน 2564) และจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ในช่วงวันที่ 24-25 กันยายน 2564 ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
กอปภ.ก.โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้งไปยัง 44 จังหวัดภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 24-25 กันยายน 2564 แยกเป็น
ภาคเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ และนครราชสีมา
ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด
โดยกำชับให้จังหวัดประสานอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าระวังปริมาณฝนสะสมโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมืองที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดภัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแจ้งเตือนหรือพิจารณาปิดกั้นพื้นที่เพื่อความปลอดภัย
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทีมปฏิบัติการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์จากปัจจัยต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามแนวทางของแผนเผชิญเหตุในแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้เข้าถึงประชาชนรวดเร็วและทั่วถึง โดยใช้อุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่ ทั้งหอเตือนภัย หอกระจายข่าว และเครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม
อีกทั้งสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อสังคม ออนไลน์ วิทยุชุมชน หอเตือนภัย และหอกระจายข่าว ที่สำคัญ ให้จัดเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ชุดเคลื่อนที่เร็ว รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัย เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมทรัพยากรให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที
สำหรับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศหรือคำเตือนขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป