ข่าวทั่วไป
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีเกษตรกรในเขตพื้นที่ชลประทาน ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องหรือปลูกมากกว่า 2 ครั้ง/ปี ทำให้บางพื้นที่ประสบปัญหาวิกฤติขาดแคลนน้ำในการปลูกข้าว รวมทั้งการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องยังส่งผลกระทบดินเสื่อมโทรม เกิดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตร ได้ให้คำแนะนำเกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าว เป็นการปลูกพืชไร่ในฤดูแล้งเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ โดยเน้นปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเมื่อเทียบกับการปลูกข้าว มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น และมีตลาดรองรับผลผลิตอย่างกว้างขวาง เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเขียว ซึ่งนอกจากจะใช้น้ำน้อยแล้วยังสามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ด้วย
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ได้วางแผนการเตรียมความพร้อมด้านเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกร โดยได้ดำเนินการพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม เพื่อเป็นการกระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่เกษตรกร ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านเมล็ดพันธุ์ และเป็นการพัฒนาศักยภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ให้เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เองตรงตามคุณภาพมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ เพื่อนำไว้ใช้เองหรือจำหน่ายในชุมชน
ทั้งนี้ ได้คัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ จัดอบรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ และการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โดยมีนักวิชาการเกษตรของกรมวิชาการเกษตรเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ เพื่อพัฒนาให้เป็นเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มืออาชีพ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในปี 65 การพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ดำเนินการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 ซึ่งเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร จำนวน 5 กลุ่ม ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี และอำนาจเจริญ มีเกษตรกรทั้งหมด 48 ราย พื้นที่ดำเนินการ 235 ไร่ โดยเกษตรกรได้ดำเนินการปลูกถั่วเขียวในฤดูแล้งแล้ว
ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวในจังหวัดอุทัยธานีอีก 1 กลุ่ม โดยจะเริ่มปลูกในเดือนเม.ย. 65 ซึ่งถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 มีคุณสมบัติให้ผลผลิตสูง 232 กิโลกรัมต่อไร่ การสุกแก่ของฝักสม่ำเสมอใกล้เคียงกัน มีขนาดเมล็ดใหญ่ เหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก การแปรรูปเป็นวุ้นเส้น สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 5 ซึ่งเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร มีลักษณะเด่น คือ ทนแล้ง ผลผลิตสูง 1,176 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคใบไหม้แผลใหญ่ และโรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส เก็บเกี่ยวเร็วที่อายุ 95-100 วัน
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 5 และจัดทำแปลงต้นแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ โดยตั้งเป้าหมายให้สมาชิกภายกลุ่มเกษตรกรนำร่องนำเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 5 ผลิตในพื้นที่ 100 ไร่ ภายใน 4 จังหวัดเป้าหมายดังกล่าว
“การดำเนินงานนี้ เป็นการบูรณาการงานวิจัยเพื่อนำผลงานวิจัยจากต้นน้ำ เผยแพร่สู่การนำไปใช้ประโยชน์ปลายน้ำ เป็นการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งบางครั้งการจัดหาเมล็ดพันธุ์ปลูก มักเป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรในบางพื้นที่ เช่น การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว หรือเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมมีราคาแพง ซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ทั้งถั่วเขียวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์เพียงพอกับความต้องการ และช่วยลดต้นทุนการผลิตจากการซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกได้ เป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร มีความมั่นคง และยั่งยืนในการประกอบอาชีพต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 65)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ข้าว, ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์, เกษตรกร, เมล็ดพันธุ์ข้าว