ความโดดเด่นของวัดเกยไชยเหนือแห่งนี้ นอกจากเป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านแล้ว ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่น่าสนใจมากมาย วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2390 เดิมเรียกว่า “วัดบรมธาตุ” ทั้งนี้ เนื่องจากมีเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุทรงลังกาฐานแปดเหลี่ยมที่มีมาก่อนการสร้างวัด โดยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยาต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพมาปราบข้าศึกที่บ้านเกยไชย แล้วได้พระราชทานวิสุงคามสีมาให้วัดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2400 น่าชม – พระอุโบสถหลังเก่าริมน้ำน่าน ที่ยังคงสถาปัตยกรรมอันคลาสสิก ที่นี่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในมีปูชนียวัตถุสำคัญ คือ พระประธาน ซึ่งองค์พระมีลักษณะเป็นลายดอกพิกุล และรูปหล่อพระครูนิรภัยวิเทต (หลวงพ่อทองอยู่) อดีตเจ้าอาวาสวัดเกยไชยเหนือ – พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกยไชยเหนือที่ปลูกสร้างเป็นอาคารทรงไทย 2 หลัง หลังแรกเป็นพิพิธภัณฑ์เก่าสร้างประมาณปี พ.ศ. 2539 ภายในจัดแสดง เครื่องปั้นดินเผาที่มีการงมได้จากบริเวณท่าน้ำวัด นอกจากนี้ยังมีเครื่องเบญจรงค์ เครื่องจักสาน โทรทัศน์รุ่นเก่า เครื่องแก้ว ตะเกียง เตารีดฯลฯ ส่วนอาคารหลังที่สองนั้นสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2541 ตั้งชื่อว่าพิพิธภัณฑ์ต้นน้ำ ภายในจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผา เครื่องแก้ว เครื่องเบญจรงค์ ธนบัตร เงินเหรียญโบราณ เครื่องทองเหลือง ปืนยาว เป็นต้น – อาคารอาศรมศิลป์ท้องถิ่นตำบลเกยไชยเป็นที่เก็บอุปกรณ์เกี่ยวกับการทำตาลโตนด และภูมิปัญญาชาวบ้านของตำบลเกยไชยในการพัฒนาผลผลิตจากตาลโตนด โดยจัดแสดง ตะเกียบไม้นวดงวงตาลตัวผู้และตัวเมีย มีดปาดตาลและเข็มขัดกระบอกใส่น้ำตาลสด กะทะใบบัว แม่พิมพ์หยอดน้ำตาลปีกหรือไม้แป้นและแผนผังขั้นตอนการทำน้ำตาลรูปแบบต่าง ๆ – ตำนานจระเข้ยักษ์แห่งแม่น้ำน่าน ซึ่งแม่น้ำน่านบริเวณที่ไหลผ่านหน้าวัดนี้เองเป็นต้นกำเนิดตำนานของจระเข้ยักษ์ที่รู้จักกันดีว่า ” ไอ้ด่างเกยไชย ” ซึ่งออกอาละวาดกินคนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 มีตำนานเล่าว่าไอ้ด่างเกยไชยนั้นเป็นจระเข้ดุร้าย ตรงหัวมีรอยด่างสีขาว รูปร่างใหญ่โต ความยาวจากปากถึงขากรรไกรประมาณ 1 วา ความสูงจากพื้นสูงประมาณ 5-6 ศอก ความยาวกว้างเท่าแม่น้ำ และภายหลังถูกฆ่าตายแล้วนำหัวกระโหลกมาทิ้งที่ศาลเจ้าแม่เกยไชยนั่นเอง – ต้นชุมแสง เป็นต้นไม้ส่วนใหญ่ที่พบได้ภายในวัด ซึ่งหาชมได้ยากเต็มทีในปัจจุบัน โดยความคิดนี้มาจาก พระครูนิธาน ปุญญาภิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอชุมแสง ที่ต้องการอนุรักษ์ต้นชุมแสง จึงได้นำมาปลูกที่วัดเกยไชยเหนือ ต้นชุมแสงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำถิ่นไปโดยปริยาย – ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นชาวบ้านตำบลเกยไชย โดยสินค้าขึ้นชื่อคือผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด เช่น น้ำตาลสด น้ำตาลปึก ลอนตาลสด จาวตาลเชื่อม เป็นต้น ทางโรงเรียนวัดเกยไชยเหนือได้ฝึกเด็กนักเรียนเป็นมัคคุเทศน์น้อยนำชมวัดและพิพิธภัณฑ์ผู้สนใจต้องแจ้งล่วงหน้าได้ที่โรงเรียน โทร +66 5635 3176