ซอกแซกสัปดาห์นี้ขอทำหน้าที่ปีละครั้งอีกเช่นเคย ในฐานะเป็นศิษย์เก่าเมืองปากน้ำโพ หรือจังหวัดนครสวรรค์ดินแดนต้นน้ำเจ้าพระยา เจ้าตำรับการจัดงาน “แห่เจ้า” สืบสานประเพณีตรุษจีนจนย่างเข้าสู่ปีที่ 105 แล้วครับ ในปี 2564 นี้
อย่างที่หัวหน้าทีมซอกแซกเคยกราบเรียนไว้เกือบทุกๆปีว่า คนนครสวรรค์โดยสายเลือดไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลกนี้ เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีนจะต้องหวนนึกถึงความหลังเมื่อครั้งยังเป็นเด็กอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์บ้านเกิดอยู่เสมอ
กลับบ้านได้ก็จะกลับ…กลับไม่ได้เพราะอยู่ ไกลหรือไม่สะดวกด้วยประการใดก็จะส่งใจกลับไป …ภาวนาขอให้งานตรุษจีนแห่เจ้าของ “พวกเรา” จงยิ่งใหญ่และอยู่ยั้งยืนยงไปตราบนานเท่านาน
หัวหน้าทีมซอกแซกก็เป็นหนึ่งในศิษย์เก่าที่ช่วยภาวนาและช่วยเชียร์ ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ทุกปีมาตั้งแต่ครั้งที่ 50 กว่าๆ จนบัดนี้ครั้งที่ 105 ก็แปลว่ากว่า 50 ปี ที่เขียนหนังสือทั้ง 3 ปี ที่ พิมพ์ไทย และ 48 ปี ที่มาอยู่ ไทยรัฐ เขียนให้โดยตลอด แบบไม่เคยว่างเว้นแม้แต่ปีเดียว
ปีนี้นึกว่าจะต้องเว้นเพราะเกิดโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่หนักกว่าระลอกเก่าหลายเท่าแม้แต่นครสวรรค์ก็เจอเข้าไปด้วย จำไม่ได้แล้วละว่ากี่ราย
แต่เมื่อได้รับการยืนยันจากเพื่อนพ้องว่ายังจัดอยู่ โดยจะปรับตัวปรับขนาดให้เหมาะสมกับกฎกติกาของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจทำให้สนุกน้อยลง แต่เต็มไปด้วยความปลอดภัย จึงยินดีเขียนให้ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่งการปรับขบวนท่าที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ พิธี “แห่กลางคืน” อันยิ่งใหญ่อลังการในค่ำคืน “วันชิวซา” หรือวันที่ 3 ของปีใหม่จีน ซึ่งปีนี้จะตรงกับคืนวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ พอดิบพอดี
คณะกรรมการจัดงานหรือที่เรียกว่า “เถ้าน้ัง” ต่างมีมติเห็นพ้องว่า การจัดงานกลางคืนย่อมควบคุมความปลอดภัยและสุขอนามัยต่างๆได้ยากมาก
จะรักษาระยะห่างอย่างไร? จะคัดกรองกันอย่างไร? เป็นเรื่องใหญ่แน่นอน
ในที่สุดก็ตัดสินใจยกเลิกขบวนแห่ภาคกลางคืนเอาไว้ก่อนสำหรับปีนี้
คงเหลือไว้เฉพาะการแห่ภาคกลางวันด้วย ขบวนแห่ที่ย่อส่วนลงบ้าง แต่ขบวนสำคัญๆ เช่น ขบวนแห่ สิงโต 5 สายพันธุ์ อันได้แก่ สิงโต กว่องสิว, ฮากกา, เสือไหหนำ, ปักกิ่ง และฮกเกี้ยน 1 เดียวในประเทศไทยยังอยู่ครบ
ขบวน มังกรทอง ที่ยิ่งใหญ่อลังการก็มาด้วย และขบวน เอ็งกอ-พะบู๊ สุดยอดนักสู้จากเขาเหลียงซาน อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของตรุษจีนปากน้ำโพก็ยังอยู่
อีกหนึ่งขบวนที่ขาดเสียมิได้…ได้แก่ ขบวน องค์สมมติเจ้าแม่กวนอิม นำโดยสาวน้อยพรหมจารี ผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นองค์สมมติประจำปีนี้
รวมทั้งขบวนที่สำคัญที่สุดและเป็นต้นกำเนิดของประเพณี “แห่เจ้า” ตรุษจีนปากน้ำโพ อันได้แก่ ขบวนอัญเชิญ “เจ้าพ่อเจ้าแม่” จากศาลต่างๆของนครสวรรค์ มาให้พี่น้องชาวตลาดและนักท่องเที่ยวได้สักการบูชาตลอด 2 เส้นทางของถนนทุกสายในนครสวรรค์นั่นเอง
อย่าลืมว่าต้นกำเนิดของประเพณีแห่เจ้าของที่นี่เมื่อ 105 ปีที่แล้ว เกิดจาก “โรคระบาด” ที่มาคร่าชีวิตคนไทยในหลายๆจังหวัด รวมทั้งที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ จนล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง
พี่น้องชาวปากน้ำโพซึ่งจะอย่างไรก็ถือ ว่าเป็นหัวเมืองห่างไกลขาดหมอขาดยาที่จะช่วยรักษาในยุคโน้น…จึงต้องดูแลตัวเอง และหันหน้าเข้าพึ่งพาเจ้าพ่อเจ้าแม่ขอพรจากท่านให้ประทานความช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง
ก็ปรากฏว่าชาวนครสวรรค์พลันหายป่วยและยุติการเสียชีวิตจากโรคร้ายราวปาฏิหาริย์เป็นเหตุให้ผู้ที่อยู่รอดต่างสำนึกในบุญญาบารมีที่เจ้าพ่อเจ้าแม่ช่วยปกปักรักษาจึงจัดพิธีแห่แหนด้วยความเคารพบูชานับแต่นั้นเป็นต้นมา
โดยจัดแห่เฉพาะตอนกลางวันในวัน “ชิวสี่” หรือวันขึ้นปีใหม่จีน วันที่สี่เท่านั้น…ส่วนการแห่กลางคืนที่กลายเป็นว่าโด่งดังมากกว่า เพราะสามารถเล่นแสงสีได้อย่างสวยงามกว่า เพิ่งจะเริ่มเมื่อ 40 กว่าปีนี้เอง
การงดเสียชั่วคราวในปีนี้เพื่อหลบโควิดจึงไม่ผิดประเพณีแต่อย่างใด
แน่นอนในยุควิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้เรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆคงไม่มีใครเชื่อ แต่สำหรับชาวไทยและชาวจีนบางส่วน แม้จะเป็นคนทันสมัยและเข้าใจในเรื่องไฮเทค แต่ก็ไม่ปฏิเสธตำนานเก่าๆด้วยถือว่าเป็นเรื่องที่รุ่นปู่รุ่นก๋งของเราท่านเชื่อถือและได้สร้างตำนานไว้ เราก็ช่วยกันสืบสานต่อให้ด้วยความศรัทธา
อีกอย่างหนึ่งการไหว้พระไหว้เจ้าก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ถือเป็นการไหว้เพื่อสร้างขวัญสร้างกำลังใจ…ไหว้เพื่อให้เราตั้งใจทำดีต่อสู้ชีวิตในเรื่องดีๆย่อมนำความสำเร็จมาสู่ชีวิต
พร้อมกับท่องภาษิตที่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยเราเมื่อเราช่วยตัวเองและทำดีควบคู่กันไป
ดังเช่นที่ชาวนครสวรรค์และนักท่องเที่ยว ซึ่งจะมากหรือน้อยยังประมาณมิได้ที่จะไปไหว้เจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคลในเทศกาลตรุษจีนปีนี้
ไหว้ไปด้วยอธิษฐานไปด้วย พร้อมกับสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ เราก็จะปลอดภัยจากโควิด-19…เหมือนพี่น้องชาวปากน้ำโพเมื่อ 105 ปีโน้นปลอดภัยจาก “โรคระบาด” นั่นแล
สรุปงานตรุษจีนนครสวรรค์ปีนี้จะมีทั้งสิ้น 12 วัน 12 คืน จาก 5 กุมภาพันธ์-16 กุมภาพันธ์ แม้จะมีวันแห่เจ้ากลางวันวันเดียวคือจันทร์ที่ 15 ก.พ. แต่ทุกๆคืนจะมีการอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่มาประทับที่ริมฝั่งเจ้าพระยาให้กราบไหว้เช่นเคย
ที่สำคัญคณะกรรมการได้เนรมิตซอยไกรลาศทั้งซอยให้เป็น “เมืองเซี่ยงไฮ้” ยุค 1930 (เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้) อย่าลืมแต่งตัวเก๋ๆย้อนยุคไปถ่ายรูปเช็กอินด้วยนะครับ
ขอขอบคุณคณะกรรมการจัดงานตรุษจีนนครสวรรค์อีกครั้งที่ยังกัดฟันสู้สืบสานประเพณีจัดงานปีที่ 105 เพื่อมิให้ขาดตอน…อาจไม่ยิ่งใหญ่เท่าปีก่อนๆแต่การคงไว้และสามารถจัดได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ควรแก่การปรบมือแล้วครับ สำหรับสถานการณ์เยี่ยงทุกวันนี้.
“ซูม”